Android TV ช้า หน่วง กระตุก แก้ปัญหาได้ด้วย 12 วิธีต่อไปนี้

ก่อนจะไปแก้ปัญหากันต้องเข้าใจกันก่อนว่าระบบปฏิบัติการ Android TV นั้นจะมีความช้ากว่าระบบอื่น ๆ ที่เป็น Smart TV ด้วยกันอย่าง Tizen, Vidaa, Roku อยู่แล้ว เพราะเป็นระบบที่มีซอฟต์แวร์ทำงานในเบื้องหลังเยอะพอสมควร

ยิ่งหากคุณซื้อรุ่นที่เป็น Android TV รุ่นเริ่มต้น ความช้าก็จะยิ่งชัด เพราะว่าสเปคเครื่องนั้นไม่ได้สูงมากนัก หากเพิ่งย้ายมาใช้ Android TV ครั้งแรกต้องเข้าใจในจุดนี้

แต่ความช้านี้สามารถบรรเทาได้บ้างด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

ลบแอปที่ไม่จำเป็นออกจากเครื่อง

ยิ่งมีจำนวนแอปในเครื่องมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ระบบของเครื่องทำงานช้ามากเท่านั้น หากมีแอปไหนที่คุณไม่ได้ใช้แนะนำให้ลบออกไป และหากวันใดที่จำเป็นต้องใช้ก็ค่อยโหลดมาใช้งานก็ได้ โดยวิธีการลบแอปมีดังนี้

  1. กดปุ่ม Home บนรีโมตเพื่อกลับไปหน้าแรกของ Android TV
  2. เลื่อนไปที่หน้า Apps (แอป) เลื่อนหาแอปที่จะลบ
  3. และกดปุ่มเปิดแอปค้างเอาไว้
  4. จะขึ้นหน้าต่างเมนูขึ้นมา ให้เลือก Info (ดูข้อมูล)
  5. เลือก Uninstall (ถอนการติดตั้ง) เพื่อทำการถอนการติดตั้ง

ลบข้อมูลสำรองของแอปต่าง ๆ

หากมีการใช้งานทีวีมาในระยะหนึ่ง ควรมีการเคลียร์ข้อมูลสำรอง ข้อมูลชั่วคราวของแอปที่ค้างไว้ สามารถทำได้โดย

  1. กดปุ่ม Home บนรีโมตเพื่อกลับไปหน้าแรกของ Android TV
  2. เลือกเมนู Settings
  3. เลือก Apps
  4. มองหาแอปที่เก็บข้อมูลไว้เยอะ ๆ (ดูจากตัวเลข MB) และกดเลือก
  5. เลือก Clear Cache, และ Clear Data

แอปที่ควรเคลียร์ข้อมูลบ่อย ๆ คือแอป Streaming ต่าง ๆ เพราะมีการสำรองข้อมูลไว้เยอะ หากเครื่องเริ่มช้า แนะนำให้ทำทันทีอาจช่วยได้

ปิดระบบอัพเดทซอฟต์แวร์อัตโนมัติของตัวเครื่อง

แม้ระบบอัพเดทอัตโนมัติจะช่วยประหยัดเวลาและทำให้ตัวเครื่องได้รับการปรับปรุงซอฟต์แวร์ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นอยู่บ่อย ๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าปกติแล้วตัวซอฟต์แวร์นั้นไม่ได้มีการอัพเดทถี่แบบทุกสัปดาห์อะไรขนาดนั้น การเปิดระบบอัตโนมัติไว้ก็มีส่วนที่ทำให้เครื่องหน่วงได้ หากเครื่องเริ่มช้าแล้ว การปิดระบบอัพเดทซอฟต์แวร์ตัวเครื่องอัตโนมัติจะช่วยได้ไม่น้อย โดยสามารถทำได้ดังนี้

  1. กดปุ่ม Home บนรีโมตเพื่อกลับไปหน้าแรกของ Android TV
  2. เลือกเมนู Settings
  3. ไปที่เมนู About (เกี่ยวกับ) และเลือก System Update (การอัพเดทระบบ)
  4. ปิดระบบ Automatic Software Update (อัพเดทซอฟต์แวร์อัตโนมัติ)

อย่างไรก็ดี ควรหมั่นเข้ามาเช็คการอัพเดทซอฟต์แวร์เดือนละครั้งก็ยังดี เพื่อดูว่ามีการอัพเดทใหม่ ๆ หรือไม่

ปิดระบบอัพเดทซอฟต์แวร์อัตโนมัติของแอป

เช่นเดียวกัน โดยค่าเริ่มต้นของ Android TV แล้วนั้น ทุก ๆ แอปที่เราดาวน์โหลดมาจะระบบมีการอัพเดทอัตโนมัติไว้ตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งก็มีส่วนทำให้เครื่องช้า แนะนำให้ปิดการอัพเดทไว้ ด้วยวิธีนี้

  1. กดปุ่ม Home บนรีโมตเพื่อกลับไปหน้าแรกของ Android TV
  2. เลือกเมนู Settings
  3. เลือก Auto-update apps (อัพเดทแอปอัตโนมัติ)
  4. เลือก Don’t auto-update apps (ไม่อัพเดทแอปอัตโนมัติ)

ปิดการใช้งานการติดตาม Location

อีกหนึ่งระบบที่สามารถปิดได้เช่นกันคือการติดตาม Location ของ TV เนื่องจากระบบนี้ไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์มากนักแต่เป็นระบบที่มักจะถูกเปิดไว้อยู่ตลอด สามารถปิดได้ดังนี้

  1. กดปุ่ม Home บนรีโมตเพื่อกลับไปหน้าแรกของ Android TV
  2. เลือกเมนู Settings
  3. เข้าเมนู ​Personal (ส่วนตัว) และเลือก Location (ตำแหน่งที่ตั้ง)
  4. ที่ Location Status เลือกเป็น Off เพื่อทำการปิดระบบการติดตาม Location

ปิดการใช้งานการติดตามการใช้งานและการตรวจสอบ (Usage & Diagnostics)

สำหรับระบบนี้จะเป็นการส่งข้อมูลการใช้งานและตรวจสอบปัญหาตัวเครื่องที่เกิดขึ้นและเก็บข้อมูลไปยัง Android TV เพื่อที่เขาจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปทำการอัพเดทระบบในอนาคต แต่การเปิดระบบนี้ไว้ก็อาจทำให้ Android TV ช้าได้ สามารถปิดได้ดังนี้

  1. กดปุ่ม Home บนรีโมตเพื่อกลับไปหน้าแรกของ Android TV
  2. เลือกเมนู Settings
  3. เข้าเมนู ​Personal (ส่วนตัว) และเลือก Usage & Diagnostics (การใช้งานและการตรวจสอบ) ถัดจาก Location
  4. กดหนึ่งครั้งเพื่อทำการเปลี่ยนเป็น Off

ปิดการใช้งานแอปที่ติดมากับเครื่องแต่ลบไม่ได้

มีหลายแอปเลยที่ติดมากับเครื่องและทำงานในเบื้องหลัง ซึ่งเรียกกันว่า bloatware แถมยังลบไม่ได้ ตัวอย่างเช่นแอป Google ซึ่งแม้นี่จะเป็นตัวแอปที่เป็นแอปของระบบปฏิบัติการก็ตามแต่เราค่อยใช้งานเมื่อจะเข้าไปยังแอปก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเปิดไว้ตลอด โดยสามารถปิดได้ดังนี้

  1. กดปุ่ม Home บนรีโมตเพื่อกลับไปหน้าแรกของ Android TV
  2. เลือกเมนู Settings
  3. เลือก Apps
  4. เลือก Google
  5. เลือก Disable (ปิดการใช้งาน)

คำแนะนำ หากปิดการใช้งานแอป Google นี้ จะไม่สามารถใช้งาน Google Assistant หรือระบบคำสั่งด้วยเสียงไปด้วย หากยังต้องใช้งานระบบนี้อยู่ก็ไม่ต้องปิด

ลดการทำงานของแอปในเบื้องหลัง

คุณสามารถลดการทำงานของแอปในเบื้องหลังได้ ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยให้ตัวเครื่องบริหารจัดการแรมได้ดีขึ้น ใช้ทรัพยากรน้อยลง โดยสามารถทำได้ดังนี้

  1. กดปุ่ม Home บนรีโมตเพื่อกลับไปหน้าแรกของ Android TV
  2. เลือกเมนู Settings
  3. เลือก About
  4. กดที่เมนู​ Build ประมาณ 7 ครั้ง เพื่อเปิดโหมดผู้พัฒนา (Developer Options)
  5. กลับไปที่เมนู​ Settings เลือก More Settings
  6. เลือก Developer Options (โหมดผู้พัฒนา)
  7. เลือก Background Processes Limit (จำกัดการทำงานของแอปในเบื้องหลัง)
  8. เลือกไว้ที่ประมาณ 1 – 2 ก็พอ

ลดการเคลื่อนไหวของ Animations

แม้ Animation ต่าง ๆ บนทีวีจะทำให้เรารู้สึกว่ามันล้ำ หรือสวยงาม แต่สิ่งนี้ก็ทำให้เครื่องช้าลงได้พอสมควร สามารถทำได้ดังนี้

  1. กดปุ่ม Home บนรีโมตเพื่อกลับไปหน้าแรกของ Android TV
  2. เลือกเมนู Settings เลือก More Settings
  3. เลือก Developer Options (โหมดผู้พัฒนา)
  4. ที่ Window animation scale เลือกเป็น Off เพื่อทำการปิด หรือ 0.5x
  5. ที่ Transition animation scale เลือกเป็น Off เพื่อทำการปิด หรือ 0.5x
  6. ที่ Animator animation scale เลือกเป็น Off เพื่อทำการปิด หรือ 0.5x

เพิ่มพื้นที่ว่างภายในฮาร์ดดิสของ Android TV

  1. กดปุ่ม Home บนรีโมตเพื่อกลับไปหน้าแรกของ Android TV
  2. เลือกเมนู Settings
  3. เลือกเมนู Storage
  4. เข้าไปดูว่ามีข้อมูลตรงไหนที่อยากลบไหมและทำการลบ
  5. สามารถ Clear Cache ทั้งหมดจากเมนูนี้ได้ด้วย โดยเลือกที่ Apps และกด Clear Cache

เปลี่ยนจากการใช้ Wi-Fi มาเป็น LAN

หากรู้สึกว่าสัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า ไม่ค่อยเสถียรเท่าไหร่ เปลี่ยนจากการใช้งานการเชื่อมต่อด้วย Wi-Fi มาเป็นการต่อสาย LAN เข้าเครื่องโดยตรงจะช่วยแก้ปัญหาความเร็วอินเทอร์เน็ตได้มาก

เวลาออกจากแอป ออกด้วยการกดปุ่ม Back แทนกดปุ่ม Home

การกดปุ่ม back บนรีโมตจะเป็นการปิดแอปที่เราออกด้วย ส่วนการกดปุ่ม Home จะเป็นการกลับไปที่หน้าแรกโดยที่แอปเดิมที่เปิดค้างไว้ยังทำงานอยู่ ฉะนั้นวิธีการกดปุ่ม back จะประหยัดแรมเครื่องได้มาก

ทั้งหมดนี้ก็เป็นวิธีการแก้ปัญหาในกรณีที่ Android TV ช้า หน่วง และกระตุก อาจช่วยได้ไม่มากก็น้อย แนะนำให้ทำทั้ง 12 วิธีเลย จะเห็นผลความแตกต่างอย่างชัดเจน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *